หัวข้อวิจัย การศึกษาวิเคราะห์ชาดกในคัมภีร์มหาวัสตุอวทาน
ชื่อผู้วิจัย รองศาสตราจารย์ ดร. สำเนียง เลื่อมใส
ผู้ให้ทุนสนับสนุน กองทุนสนับสนุนการวิจัย นวัตกรรม และการสร้างสรรค์ คณะโบราณคดี
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปีงบประมาณ 2564
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา รูปแบบการประพันธ์คัมภีร์ การวิเคราะห์ชาดก และบทบาทตัวละครในชาดก อิทธิพลวรรณคดีสันสกฤตที่มีต่อคัมภีร์มหาวัสตุอวทาน รวมทั้งภาพสะท้อนต่าง ๆ ที่ปรากฏในชาดกในคัมภีร์มหาวัสตุอวทานผลการศึกษาพบว่า มหาวัสตุอวทานเป็นคัมภีร์พุทธศาสนาที่แทรกด้วยนิทาน ประพันธ์ด้วยภาษา สันสกฤตผสมปรากฤต มีศิลปะการใช้ภาษาที่งดงามประกอบด้วยศัพทาลังการและอรรถาลังการ กระจายอยู่ทั้ง 3 เล่ม โดยเฉพาะบทร้อยกรองนั้นกวีได้เลือกใช้ฉันท์ชนิดต่าง ๆ ที่หลากหลาย แม้จะเป็นวรรณกรรมทางศาสนา แต่บางช่วงบางตอนก็ประพันธ์ด้วยลีลาที่ประณีตบรรจง มีการใช้ถ้อยคำสำนวนที่ไพเราะมหาวัสตุอวทานเป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหารวบรวมชาดกไว้จำนวน 54 เรื่อง น่าจะประพันธ์ตั้งแต่ 200 ปี ก่อนคริสตกาลและมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 คัมภีร์นี้ได้เผยแพร่เข้าไปในทิเบตและฃเนปาลแล้วตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12-13 ต่อมามีการค้นพบคัมภีร์ที่จารบนกระดาษด้วยลายมืออักษรเนวารีในประเทศเนปาล เป็นเหตุให้ เอมิล เซนาร์ต นักวิชาการชาวฝรั่งเศสนำมาตรวจชำระและมีการพิมพ์เผยแพร่เมื่อค.ศ.1882 เป็นต้นมา ต้นฉบับที่เซนาร์ตตรวจชำระได้ค้นพบบันทึกของผู้จารว่าคัมภีร์นี้คัดลอกเสร็จในปีเนปาลสมั วัต 842 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1721 หรือ พ.ศ. 2264 จึงทราบได้ว่าต้นฉบับคัมภีร์ที่ค้นพบมีอายุราว 300 ปีคัมภีร์นี้เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมต่อแนวคิดของพุทธศาสนาในยุคแรกกับแนวคิดของพุทธศาสนาแบบมหายานในยุคต่อมาชาดกในคัมภีร์มหาวัสตุอวทานที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับอรรถกถาชาดกมีจำนวน 26 เรื่อง ส่วนใหญ่มี
วัตถุประสงค์ต่างกัน และมีบทบาทของตัวละครแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1) การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ 2)บทบาทของพระนางยโศธรา 3) เรื่องของมาร และ 4) เรื่องอื่น ๆ เช่น พระอุทายี พระอุบาลี พระศารีบุตรและพระเมาทคัลยายนะ เป็นต้น ซึ่งบทบาทเหล่านี้มีทั้งเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน และต่างกัน ส่วนชาดกที่ปรากฏเฉพาะในคัมภีร์มหาวัสตุอวทานมีจำนวน 28 เรื่อง ได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์อวทานต่าง ๆ เช่น ทิวยาวทานอวทานกัลปลตา เป็นต้น และค้นพบว่ามีที่มาจากคัมภีร์ชาดกมาลา คัมภีร์ของมูลสรวาสติวาทอีกด้วย ชาดกบางเรื่องยังได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีสันสกฤต เช่น มหากาพย์มหาภารตะ ปุราณะ และนิทานสันสกฤตอื่น ๆเนื้อหาที่ปรากฏในมหาวัสตุอวทานสะท้อนให้เห็นสังคมในสมัยพุทธกาลหรือช่วงต้นหลังพุทธกาลมีการปกครองแบบราชาธิปไตยซึ่งกษัตริย์มีอำนาจสูงสุด และการปกครองแบบสามัคคีธรรมซึ่งมีคณะบริหารปกครองสังคมแบ่งหน้าที่ตามระบบวรรณะที่ชัดเจน เป็นสังคมเกษตรกรรมและค้าขายทางทะเล รวมทั้งการทำปศุสัตว์มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ชัดเจนเป็นหลักฐานที่สำคัญว่าระบบเงินตรามีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลด้านวัฒนธรรมประเพณี สะท้อนให้เห็นพิธีกรรมการบูชายัญ การตั้งชื่อ การแต่งงาน การบูชาไฟ เป็นต้นมีการเฉลิมฉลองในเทศกาลการเกิด การตั้งชื่อ เป็นต้น มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม และความบันเทิงของสังคมอินเดียโบราณ ได้กล่าวถึงเครื่องประดับต่าง ๆ ไว้หลายประการ ทั้งเครื่องประดับที่ทำจากทองหรือรัตนชาติอื่น ๆ ด้วยเช่นกันด้านศาสนา กล่าวถึงหลักความเชื่อเรื่องกรรม ผลแห่งกรรมนั้นมีจริง ไม่ได้สูญหายไปพร้อมกับคนที่ตาย
หรือละโลกไปแล้ว มีคำสอนและคติธรรมต่าง ๆ เช่น ความอดกลั้น อดทน ความเพียร ความกล้าหาญ เป็นต้น
ไฟล์งานวิจัย คลิกที่นี่